สารคดีชุดพิเศษเฉลิมพระเกียรติในหลวง "ประโยชน์สุขของแผ่นดิน" ตอน น้ำก่ำ ภาพร่างตัวยึกยือ
ฟอร์ด-สบชัย ไกรยูรเสน ได้เดินทางไปสัมผัสวิถีเกษตรกรรมของดินแดนริมแม่น้ำโขงในหน้าแล้ง และพบว่า ชาวลุ่มน้ำก่ำ จ.นครพนม ยังคงปลูกพืชผลได้อย่างวางใจ โดยไม่ต้องรอฟ้าฝนอย่างที่เคยเป็นมา ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้เพราะโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง ทอดพระเนตรลำน้ำก่ำ ก่อนจะร่างภาพ "ตัวยึกยือ" ขึ้น ณ ตอนนั้นเอง ภาพร่างตัวยึกยือ คือแนวพระราชดำริ เพื่อจะช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวลุ่มน้ำก่ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝนทิ้งช่วง น้ำท่วมหน้าน้ำหลาก น้ำแล้งหน้าแล้ง ซึ่งล้วนส่งผลต่อการทำเกษตร

...เกษตรกรในหลายๆพื้นที่ ได้พึ่งพาน้ำจากโครงการนี้ พี่โชคชัย เป็นตัวอย่างของเกษตรกรหัวก้าวหน้า ทำการเกษตรบนพื้นฐานของการตลาด พี่โชคชัยย้ำว่า โครงการที่ในหลวงพระราชทานให้มีน้ำนั้น เป็นเครื่องมือที่เราจะต้องนำไปใช้อย่างขยันและอดทนด้วย จึงจะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับพี่เชา ซึ่งขยันทำการเพาะปลูกไม่มีวันหยุด เพราะรู้แล้วว่าคุณค่าของ"น้ำ"จากพระเจ้าอยู่หัวนั้น มีความสำคัญมากแค่ไหน

...ก่อนกลับกรุงเทพฯ พิธีกรได้แวะเยี่ยมป้าเทียมจัน ผู้เคยได้รับเสด็จฯในหลวงในปี 2535 ลานบ้านของพี่เทียมจันเต็มไปด้วยข้าวที่เพิ่งเกี่ยวมาใหม่ๆ นั่นหมายถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของป้าเทียมจันด้วย พิธีกรได้เข้าใจแล้วว่า ทำไมในหลวงจึงให้ความสำคัญกับน้ำ เพราะคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนเมือง หรือคนชนบท ย่อมต้องพึ่งพาวิถีเกษตรกรรม ซึ่งจะขาดน้ำไม่ได้เลย

...ลำน้ำก่ำวันนี้ จึงกลับเต็มล้นและชุ่มชื้นได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับชีวิตของเกษตรกรชาวลุ่มน้ำก่ำ ที่ชุ่มเย็นด้วยน้ำพระราชหฤทัย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง

ที่มา : Panorama Worldwide Co.,Ltd.