Get Adobe Flash player

พระราชดำริก่อเกิดโครงการ

(ภาพแสดงลักษณะลำน้ำก่ำในอดีต)

               ลุ่มน้ำก่ำ เป็นลุ่มน้ำย่อยของกลุ่มน้ำโขง มีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ อันได้แก่ หนองหานและลำน้ำก่ำ โดยมีจุดเริ่มต้นจากหนองหาร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ไหลไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงแม่น้ำโขง ที่ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม รวมความยาวประมาณ ๑๒๓ กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำฝนประมาณ ๓๔๔๐ ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำเฉลี่ยรายปีประมาณ ๑๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่บริเวณสองฝั่งของลำน้ำก่ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม  และมีราษฎรตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณตามเนินตลอดสองฝั่งลำน้ำ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม วิถีชีวิตของราษฎรต้องประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันเป็นประจำทุกปี โดยในช่วงฤดูฝนยามที่น้ำในแม่น้ำโขงมีระดับสูง พื้นที่เพาะปลูกก็จะถูกน้ำท่วม แต่ครั้นในช่วงฤดูแล้งเมื่อน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับต่ำ น้ำในลำน้ำก่ำก็จะไหลลงแม่น้ำโขงเกือบหมด ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร

 

(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๔,๑๘ และ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ 
ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ
จังหวัดสกลนคร-นครพนม และทรงวางโครงการด้วยพระองค์เอง)

               ต่อมาเมื่อความทราบถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม อย่างต่อเนื่องหลายครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๕ เริ่มจากทรงร่างรูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำ ปรากฏเป็นภาพลายพระหัตถ์เรียกว่า “ตัวยึกยือ” ประกอบด้วย ส่วนหัว อันหมายถึง หนองหานซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ต้นกำเนิดของลำน้ำก่ำ

(ภาพวาดฝีพระหัตถ์ " ยึกยือ " ร่างเค้าโครงพระราชทาน)

               ส่วนกระดูกสันหลัง หมายถึง ลำน้ำก่ำ ข้อที่เป็นปล้องๆหมายถึง อาคารบังคับน้ำ ขอบลำตัวเปรียบเสมือนคลองระบายน้ำ ที่คาขนานไปกับลำน้ำก่ำ และส่วนหางคือแม่น้ำโขง แนวพระราชดำรินี้ จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้แก่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำก่ำ ที่มีน้ำให้ใช้เพื่อการเกษตร  และอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย ในฤดูน้ำหลากอีกด้วย

      จากนั้นเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพิ่มเติม ให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินงานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำก่ำ ในลำน้ำก่ำตอนล่างเพียงระดับต่ำ เพื่อให้เก็บกัก น้ำในพื้นที่เพียงเล็กน้อยก่อน เนื่องจากขณะนั้นยังมีปัญหาที่ดินที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งราษฎรเรียกร้องค่าตอบแทนสูงมาก กระทั่งเมื่อสามารถเจรจาปัญหาที่ดินที่ถูกน้ำท่วมกับราษฎรได้ในราคาที่เหมาะสมแล้ว กรมชลประทานจึงได้พิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ประเภทประตูระบายน้ำให้สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ราษฎรทั้งสองฝั่งลำน้ำสูบน้ำจากลำน้ำก่ำตอนล่าง ไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพได้อย่างสมบูรณ์ ภายหลังการก่อสร้างประตูระบายน้ำน้ำก่ำตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้แล้วเสร็จ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำว่า ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ซึ่งมีความหมายว่า ประตูระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้างขึ้น

(ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต)

               ด้านการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานได้จัดตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่โครงการทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวพระราชดำริ และเป็นการเพิ่มศักยภาพพื้นที่ชลประทานตามเป้าหมายของกรมชลประทาน

 

ธรณิศนฤมิต ประสิทธิผล

               การดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำจำนวน ๗ แห่ง ที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำก่ำเหนือประตูระบายน้ำของแต่ละแห่ง ซึ่งปริมาณน้ำที่เก็บกักจำนวนนี้สามารถนำไปใช้ในการชลประทานในพื้นที่สองฝั่งของลำน้ำได้ โดยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและทำการสูบน้ำที่เก็บกักเหนือประตูระบายน้ำแต่ละแห่ง ไปยังคลองชลประทาน เข้าสู่พื้นที่ชลประทานทั้งสองฝั่งลำน้ำซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ คิดเป็นพื้นที่ชลประทานรวม ๔๑,๗๐๐ไร่ จากพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด ๑๖๕,๐๐๐ไร่

               เกษตรกรในเขตพื้นที่โครงการได้รับประโยชน์จากการมีน้ำเพื่อทำการเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง โดยฤดูฝนสามารถทำนาได้เต็มพื้นที่ ส่วนในฤดูแล้งจะเป็นการปลูกพืชอายุสั้นต่างๆ ได้แก่ ข้าวโพด มะเขือเทศ แตงโม และอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้มีการ จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อบริหารและจัดการน้ำภายในกลุ่ม ทำให้กาส่งน้ำชลประทานมีประสิทธิภาพ เกษตรกรได้รับผลผลิตที่มั่นคง มีรายได้สูงขึ้น โดยปัจจุบันได้จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเต็มพื้นที่ และหลายแห่งมีความเข้มแข็งและมีการบริหารจัดการที่ดี

               กรมชลประทานได้ดำเนินการบูรณาการ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครพนม องค์กรปรกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกษตรกร ใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทานให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มอบหมายให้ศูนย์ศึกษา การพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริร่วมกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ ส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการผลิตการเกษตรที่ให้ผลตอบแทนที่สูงเพียงพอเพื่อจูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้ราษฎรผลิตสินค้าด้านการเกษตรแบบมีสัญญา เพื่อเป็นการประกันความผันผวนด้านราคาและปริมาณความต้องการผลผลิตการเกษตร และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการสร้างผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากน้ำที่ได้กักเก็บไว้เหนือประตูระบายน้ำทุกแห่งอย่างคุ้มค่า

 

 

งานที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของโครงการฯ

1.งานก่อสร้างประตูระบายน้ำ ระบบส่งน้ำ จำนวน 7 แห่ง มีดังนี้

ประตูระบายน้ำในลำน้ำก่ำ จำนวน ๔ แห่ง ดังนี้

     1.1 ประตูระบายน้ำบ้านหนองบึง ตำบลด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายโค้ง ขนาด 6.00 ม.x7.5 ม. จำนวน 2 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 1.87 ล้านลบ.ม.

           มีสถานีสูบน้ำที่อยู่ในพื้นที่ทั้งหมด...สถานี ได้แก่

                  สถานีสูบน้ำบ้านเชียงเสือใหญ่ พื้นที่ชลประทาน 2,221 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

                  สถานีสูบน้ำบ้านโนนกุง  พื้นที่ชลประทาน 3,153 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

                  สถานีสูบน้ำบ้านบึงแดง  พื้นที่ชลประทาน 3,358 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

                  สถานีสูบน้ำบ้านป่าปอ  พื้นที่ชลประทาน 2,110 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

                  สถานีสูบน้ำบ้านหนองบึง  พื้นที่ชลประทาน 1,760 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

     1.2ประตูระบายน้ำบ้านนาขาม ตำบลวังยาง อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม
เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายโค้ง ขนาด 6.00 ม.x7.5 ม. จำนวน 3 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 3.10 ล้านลบ.ม.

                 สถานีสูบน้ำบ้านนาขาม พื้นที่ชลประทาน 2,700 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

      1.3 ประตูระบายน้ำบ้านนาคู่ ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายโค้ง ขนาด 6.00 ม.x7.50 ม. จำนวน 3 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 8.75 ล้านลบ.ม.

                 สถานีสูบน้ำบ้านคำเม็ก พื้นที่ชลประทาน 3,000 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

                 สถานีสูบน้ำบ้านดอนข้าวหลาม พื้นที่ชลประทาน 2,400 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

                 สถานีสูบน้ำบ้านนาแก พื้นที่ชลประทาน 10,540 ไร่ (อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง)

                 สถานีสูบน้ำบ้านนาคู่ พื้นที่ชลประทาน 6,400 ไร่ (อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง)

                 สถานีสูบน้ำบ้านนาทุ่งมั่ง พื้นที่ชลประทาน 2,908 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

      1.4 ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต (น้ำก่ำตอนล่าง) บ้านโนนสังข์ ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายตรง ขนาด 10.00 ม.x9.00 ม. จำนวน 4 ช่อง พร้อมระบบสูบน้ำกลับ ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก +137.50 ม.รทก. เก็บกักน้ำได้ 16.4 ล้าน ลบ.ม.

                โครงการระบบส่งน้ำฯ พื้นที่ชลประทาน 58,000 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

 

ประตูระบายน้ำในลำน้ำบัง จำนวน 2 แห่ง ดังนี้

      1.5 ประตูระบายน้ำบ้านตับเต่า ตำบลหนองเทาใหญ่ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายโค้ง ขนาด 6.00 ม.x5.50 ม. จำนวน 3 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 0.73 ล้านลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 6,000 ไร่

            สถานีสูบน้ำบ้านกุงโกง พื้นที่ชลประทาน 3,465 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

            สถานีสูบน้ำบ้านตับเต่า พื้นที่ชลประทาน 2,550 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

       1.6 ประตูระบายน้ำบ้านนาบัว บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม
เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายโค้ง ขนาด 6.00 ม.x5.50 ม. จำนวน 3 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 1.05 ล้านลบ.ม.

             สถานีสูบน้ำบ้านนาเชือก พื้นที่ชลประทาน 2,400 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

             สถานีสูบน้ำบ้านนาสะเดา พื้นที่ชลประทาน 2,218 ไร่ (ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง)

ประตูระบายน้ำในลำห้วยแคน จำนวน 1 แห่ง
        1.7 ประตูระบายน้ำห้วยแคน บ้านโพธิ์ทอง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายตรง ขนาด 6.00 ม.x6.70 ม. จำนวน 3 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 1.90 ล้านลบ.ม.

            สถานีสูบน้ำห้วยแคน 1 พื้นที่ชลประทาน 5,000 ไร่

            สถานีสูบน้ำห้วยแคน 2 พื้นที่ชลประทาน 2,000 ไร่

2.งานพัฒนาหนองบึงขนาดใหญ่ ในเขต จ.สกลนคร - นครพนม จำนวน 15 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 15.26 ล้านลบ.ม.

ผลประโยชน์ของโครงการ
           2.1 สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน ได้ทั้งหมดประมาณ 165,000 ไร่ (ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในฤดูแล้งได้ประมาณ 47,000 ไร่)

           2.2  เป็นแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคและอุตสาหกรรมบริเวณลุ่มน้ำเขต อ.เมือง , อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร และอำเภอวังยาง, อ.นาแก, อ.ปลาปาก ,อ.เรณูนคร, อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

           2.3 บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำก่ำ ในเขต จ.สกลนคร จ. นครพนม

491979
วันนี้
เมื่อวาน
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทั้งหมด
45
524
2309
486438
8825
19128
491979

Your IP: 18.118.140.108
Server Time: 2024-04-19 02:29:06

มี 8 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ สำนักงานชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Nam Kam River Basin Operation And Maintenance Project. 

ที่ตั้ง : บ้านโนนสังข์ ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม 48110  โทร. 0-4205-9266

ออกแบบและพัฒนาโดย งานสารสนเทศ & KM Team