Get Adobe Flash player

ใครเลยจะคิดว่าผืนดินที่ทำกินอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเรือกสวนไร่นาที่เขียวขจี ดังคำว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” บนพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ ในเขต จ.สกลนคร และ นครพนม รวมไปถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหารนั้น หากย้อนไปเมื่อ 20 -30ปีที่ผ่านมา พื้นดินบริเวณนี้ในหน้าแล้งกลับมีสภาพแห้งผาก แต่พอถึงฤดูฝนพื้นที่กลับโดนน้ำท่วมอย่างหนัก สร้างความเสียหายให้พื้นที่การเกษตร สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นพื้นที่ในเขต จ.มุกดาหารบางส่วนยังกลายเป็นพื้นที่สีแดง ที่มีพวกคอมมิวนิสต์ชุกชุม จนคนหนุ่มสาวต้องไปหาเช้ากินค่ำในเมืองหลวง ปล่อยให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่อาจละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองได้ จำต้องใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นเพียงลำพัง

ครั้นเมื่อความทราบยังพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ถึงความเดือดร้อนของประชาชน พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 ให้กรมชลประทานวางแผนและก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ ซึ่งอยู่ในเขต 2 จังหวัดที่ประสบปัญหา เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎร

เดิมทีชาวบ้านบริเวณทั้งสองฝั่งลำน้ำก่ำ ประสบปัญหาเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก ขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตร และเพื่ออุปโภคบริโภค พื้นดินแห้งแล้งเพาะปลูกอะไรก็ไม่เป็นผล ทำให้ยากลำบากในการดำเนินชีวิตมาก

“ชาวบ้านที่เดือดร้อนจึงได้ยื่นฎีกาเพื่อทูลเกล้าฯ ขอความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงช่วยแก้ปัญหาในเรื่องน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก ในฤดูฝน และขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตร ในฤดูแล้ง

เมื่อความทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงมีพระราชดำริ ให้กรมชลประทานวางโครงการ และก่อสร้างโครงการขึ้น เพื่อช่วยเหลือปัญหาความเดือดร้อนให้กับราษฎร”

แต่ที่นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์เค้าโครงพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันมีลักษณะคล้ายตัว “ยึกยือ” ขณะที่ประทับอยู่บนเครื่องบินพระที่นั่ง โดยส่วนหัวของภาพนั้นคือ หนองหาน ส่วนลำตัวคือ น้ำก่ำ พระราชทานให้กับกรมชลประทานนำไปดำเนินการสร้าง และช่วยบรรเทาปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการหนึ่งที่แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เกษตรกรในภาคอีสาน ได้รับประโยชน์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ครอบคลุมพื้นที่ใน จ.สกลนคร และ จ.นครพนม โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนา 2 ฝั่งของลำน้ำก่ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"ลำน้ำก่ำ" มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร ไหลสู่หนองหาน เป็นอ่างเก็บกักน้ำธรรมชาติ หรือแก้มลิง ผ่านพื้นที่ อ.โคกศรี สุพรรณ จ.สกลนคร อ.นาแก อ.เรณูนคร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม รวมระยะทาง 123 กิโลเมตร

มีความลาดเทจากด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก พื้นที่บริเวณ 2 ฝั่งของลำน้ำก่ำ และลำน้ำบัง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำก่ำ ส่วนใหญ่เป็นที่นา มีหมู่บ้านตั้งกระจายอยู่ในบริเวณตามที่เนินตลอดลำน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีหนองบึงธรรมชาติอยู่ทั่วไปอีกเป็นจำนวนมาก ช่วงปลายลำน้ำมีสภาพเป็นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงเป็นประจำทุกปี ในฤดูแล้งน้ำในลำน้ำก่ำจะมีน้อยมากนำขึ้นมาใช้ได้ยาก จึงมักเกิดภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และเป็นปัญหาซ้ำซาก

ในปีพ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินหนองหาน และประตูระบายน้ำสุรัสวดี บ้านบึงศาลา ต.นาตงวัฒนา อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร

เพื่อทรงสำรวจสภาพลำน้ำก่ำบริเวณ อ.โคกศรีสุพรรณ ศึกษาสภาพภูมิประเทศจากแผนที่ และทรงสอบถามชีวิตความเป็นอยู่พสกนิกร พร้อมทั้งทรงร่างภาพโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนคร และจ.นครพนม บนเครื่องบินพระ ที่นั่ง ที่พระองค์ทรงเรียกว่า  "ตัวยึกยือ"  และพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทาน ไปศึกษาพิจารณาวางโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 2 ฝั่งลำน้ำ

ต่อมาในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน กรมชล ประทาน ศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเบื้องต้น และออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จากการศึกษาได้กำหนดลักษณะโครงการ โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำ และยกระดับน้ำให้สูงขึ้น 7 แห่ง พร้อมทั้งก่อสร้างระบบส่งน้ำและสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 17 สถานี คาดว่าจะเสร็จในปีพ.ศ.2559

รวมทั้งพัฒนาหนองบึงขนาดใหญ่ หรือแก้มลิงธรรมชาติ จำนวน 15 แห่ง ขณะนี้เสร็จไปแล้ว 13 แห่ง เหลือ 2 แห่ง คือ หนองบึงแดง และหนองบึงแต้ จ.สกลนคร คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ รวมพื้นที่ชาวบ้านได้รับประโยชน์ประมาณ 165,000 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีระบบในการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาเติมในลำน้ำก่ำ เป็นลักษณะคล้ายภูมิคุ้มกันความเสี่ยงภัยแล้งและน้ำท่วม โดยเฉพาะภาวะปัจจุบันจะเห็นว่าน้ำในแม่น้ำโขงแห้งลงไปทุกครั้ง เมื่อมีระบบการสูบกลับน้ำนี้แล้ว ทำให้ประชาชนมีน้ำใช้ทางการเกษตรตลอดปี สามารถทำการเกษตรได้ถึง 3ครั้ง

ทุกวันนี้ บนพื้นที่แห่งน้ำพระราชหฤทัยอันกว้างใหญ่ไพศาล เต็มไปด้วยความเขียวขจีของป่าไม้พืชพรรณธรรมชาตินานาพันธุ์ ที่มีคุณประโยชน์มากมาย ผลผลิตของโครงการเริ่มผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรม ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เพียงแต่จะคลายความทุกข์เศร้าและความแร้นแค้น แต่ยังนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดสร้างสัมมาชีพให้กับตัวเอง ถึงแม้จะไม่ได้ร่ำรวยมหาศาล แต่พวกเขาก็มีความสุขแบบพออยู่พอกิน ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งน้ำพระราชหฤทัย ที่ส่งผลให้หลายชีวิตพบกับความสุขอันยั่งยืนอย่างแท้จริง

495346
วันนี้
เมื่อวาน
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทั้งหมด
337
553
2272
489670
12192
19128
495346

Your IP: 3.139.82.23
Server Time: 2024-04-25 13:52:05

มี 5 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ สำนักงานชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Nam Kam River Basin Operation And Maintenance Project. 

ที่ตั้ง : บ้านโนนสังข์ ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม 48110  โทร. 0-4205-9266

ออกแบบและพัฒนาโดย งานสารสนเทศ & KM Team